Social Experiment คืออะไร เรา ทดสอบสังคม กันไปทำไมนะ?

คำศัพท์ฮอตคำใหม่มาอีกแล้วจ้า กับคำว่า Social Experiment หลายคนก็คงเคยได้ยินกันแล้วแหละ แต่เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่เพิ่งจะเคยได้ยิน แล้วก็อาจจะยังงงๆ ไม่ข้าใจว่า Social Experiment คืออะไร แล้วเราจะทำสอบสังคมกันไปเพื่ออะไรนะ มาหาคำตอบพร้อมกันได้เลยค่ะ

Social Experiment คืออะไร

Social Experiment หรือ การทดลองทางสังคม คือการวิจัยในด้านจิตวิทยาและสังคมวิทยา เพื่อดูว่าผู้คนมีพฤติกรรมหรือตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร จำลองเหตุการณ์ หรือทำสถานการณ์สมมติขึ้นมา โดยไม่ให้คนที่อยู่ในการทดลองรู้ว่าเป็นเรื่องไม่จริง
หรือเข้าใจง่ายๆ ได้ว่า ก็เล่นละครอยู่แหละ แต่ไม่ให้อีกฝ่ายรู้ว่าเรากำลังแสดงละครอยู่ เพื่อจับตาดูพฤติกรรมของคน แล้วมาวิเคราะห์พฤติกรรมที่เกิดขึ้น
Social Experiments เองก็มีหลายแบบ ทั้งแกล้งคนแรงๆ หรือที่เราเรียกว่า Prank เคยฮิตมากในยุคหนึ่ง หรือในเชิงวิชาการจ๋าเลยก็มี ขอแบ่งแบบให้เข้าใจง่ายขึ้นตามนี้เลย

1. Social Psychology Experiments

การทดลองสังคมในเชิงจิตวิทยา จะทดสอบสังคมในเชิงวิชาการสุดๆ โดยใช้หลักจิตวิทยาในการทดลอง 

Walter Mischel นักจิตวิทยาได้ทำการทดลอง The Marshmallow Test Experiment เพื่อพิสูจน์ว่าการยอมรอคอยบางอย่างแบบช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จในอนาคต โดยให้เด็กอายุ 3-5 ขวบ เข้าไปในห้องที่มีมาร์ชเมลโลรือคุกกี้อยู่ โดยบอกกับเด็กๆ ว่า ถ้าใน 15 นาทีไม่กินขนมบนโต๊ะก็จะได้ขนมเพิ่มอีกหนึ่งชิ้น!
หลังจากการทดลอง Walter Mischel ได้ทำการติดตามเด็กๆ อีกหลายปี และพบว่าเด็กที่ยอมรอ 15 นาที มีแนวโน้มประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่า เช่น สอบ SAT ได้คะแนนดี (ระบบการสอบเข้ามหาลัยของอเมริกา) และประสบความสำเร็จในด้านวิชาการต่างๆ (จากการสอบถามพ่อแม่เด็ก)

2. Social Thoughts Experiments

การทดสอบสังคม ดูว่าผู้คนมีความคิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร เคสที่หน้าสนใจเกิดขึ้นที่ลอนดอนเมื่อ 2 ปีที่แล้วค่ะ Alexis Stone คือ Drag Queen ที่มีชื่อเสียงชาวอังกฤษ ได้ทำการอัปคลิปลงยูทูบชาแนลของตัวเอง ที่ดูเหมือนว่าเพิ่งผ่านการทำศัลยกรรมใบหน้ามา และใช้ชีวิตแบบนั้นไปถึง 7 เดือน!

ความจริงแล้ว Alexis ร่วมมือกับช่างแต่งหน้าเทคนิคพิเศษที่ได้ราวัลออสการ์ David Marti มาร่วมทำการทดลองนี้ด้วยกัน เพื่อดูว่าชาวเน็ตจะแสดงความคิดเห็นต่อใบหน้าของ Alexis อย่างไร
ไอเดียนี้ผุดขึ้นมาเพราะ Alexis ได้รับคำวิจารณ์เกี่ยวกับการทำศัลยกรรมใบหน้ามาตลอด ทั้งๆ ที่ไม่เคยทำเลย (Alexis ฉีดฟีลเลอร์กับโบท็อกซ์เท่านั้น) แน่นอนว่าช่วงทำการทดสอบสังคม Alexis ได้รับคอมเมนต์ที่ด่าทอ และบอดี้เชมมิ่งจากชาวเน็ตมากมาย
Alexis อยากให้ผู้คนได้ตระหนักว่าคอมเมนต์ที่พิมพ์มามันส่งผลต่อคนที่ได้รับยังไงบ้าง และ Alexis ทำการเฉลยการทดลอง พร้อมบอกว่าไม่ว่าพวกคุณจะเรียกการแสดงนี้มันว่าอะไร แต่นี่คือผลงานศิลปะของฉัน จบนะ

3. Social Entertaining Experiments

การทดลองสังคมเพื่อความบันเทิง ส่วนใหญ่มักจะคาดเดาการตอบสนองของผู้ถูกทดลองได้อยู่แล้ว ตั้งแต่ก่อนทำการทดลอง เช่น การแกล้งทำให้ตกใจ (Prank) หรือการแสดงละคร
เคสที่เพิ่งเกิดขึ้นจนคนวิจารณ์มากมาย ก็คือรายการ Umm ก็สวยอยู่ ที่ไม่ได้บอกผู้ชมอย่างชัดเจนตั้งแต่แรก ว่าเป็นละครวิทยานิพนธ์ โดยให้ตัวละครพูดจาเชิงเหยียดหยาม และบอดี้เชมมิ่ง (Shaming) คนที่เป็น LGBTQ+ เพื่อดูว่าสังคมจะมีปฏิกิริยายังไง และส่งผลให้สื่อที่นำเสนอคอนเทนต์แบบนี้ปิดตัวลงได้เลยหรือไม่
แน่นอนว่าทีมคนทำโดนทัวร์ลงเละ ตอนนี้คนอาจจะรู้เยอะแล้วว่ารายการปลอม เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ แต่ก็มีอีกหลายคนยังไม่รู้ว่าเป็นการแสดง ถึงรายการจะปลอมแต่คนที่เสียความรู้สึกมีอยู่จริงแน่นอน! 

แฟร์มั้ย ถ้าเรากลายเป็นหนูทดลองโดยไม่รู้ตัว!

ถ้าในเรื่องของการแพทย์และวิทยาศาตร์ก็มี แนวทางจริยธรรมการวิจัยและการทดลองในคน รับรองอยู่แล้วว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ และขอบเขตอยู่ตรงไหน ผู้วิจัยต้องเคารพผู้ที่ถูกวิจัยไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม และที่สำคัญคือต้องมีการได้รับความยินยอมโดยได้รับข้อมูล (The Process of Informed Consent)
ในส่วนของ Social Experiments ก็มี จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์กับงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ และนักวิจัยด้านสังคมศาสตร์ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องของจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์อยู่มาก หรืออาจคิดว่ามันก็จำเป็นแค่ในทางสุขภาพเท่านั้นแหละ ก็เลยไม่ได้ให้ความสำคัญนัก ทำให้มีงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ ที่มีการเก็บข้อมูลซึ่งมีความเสี่ยงหรือส่งผลกระทบต่อผู้เข้าร่วมโครงการวิจัย ทั้งทางด้านจิตใจและร่างกาย 
สิ่งสำคัญในการจะทำการทดลองสังคม คือ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เข้าร่วมเป็นเอกสารก่อน (Consent Form) แสดงถึงการเคารพในศักดิ์ศรีของผู้ถูกทดลอง เพราะการให้ความยินยอมเป็นสิทธิของบุคคล ซึ่งคนอื่นจะมาล่วงละเมิดสิทธิในการให้ความยินยอมนั้นไม่ได้ สรุปก็คือ ผู้ทำการวิจัยต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถูกวิจัยก่อน และผู้ถูกวิจัยต้องให้ความยินยอมโดยสมัครใจ

ทำยังไงถ้าเรากลายเป็นคนถูกทดลองโดยไม่รู้ตัว?

ขนาดเรายังออกมาช่วยเซฟน้องสัตว์ที่ถูกนำมาทดลองในห้องแล็บเลย แล้วการที่เรากลายเป็นคนถูกทดลองเองแบบไม่รู้ตัวล่ะ จะได้ยังไงได้บ้าง?
อย่างที่บอกไปนะคะว่าเรื่องการให้ความยินยอมหรือ Consent เนี่ยสำคัญมาก! ถ้าเราถูกนำไปเป็นตัวอย่างทดลองโดยไม่ยินยอม ไม่ว่าจะเป็นการซ่อนกล้องแล้วแอบถ่าย หรือเอาข้อมูลไปโดยเราไม่ได้อนุญาต ก็สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้เลย

แต่ถ้าทำการทดสอบสังคมแบบออนไลน์ ก็ควรมีหลักจริยธรรมนี้ด้วยเช่นกัน ควรมีกระบวนการสื่อสารที่ดี ตระหนักถึงผลที่ตามมาด้วยมากๆ อย่าลืมมี Disclaimer หรือ Trigger Warnings ที่ชัดเจนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะสื่อออนไลน์ไปไวและเข้าถึงคนจำนวนมากได้ในเวลาเพียงสั้นๆ
กว่า Beauty Community จะช่วยสร้าง Self-Esteem ให้ทุกคนรักตัวเอง และมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นได้อย่างทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย การที่นักวิจัยได้กำหนดคอนเทนต์ที่จะลงทุกตอนไว้ล่วงหน้า เพราะเข้าใจดีว่าหลังจากนั้นจะได้รับ Feedback แบบไหน ก็เท่ากับว่ารู้อยู่แล้วว่าผลการทดลองจะออกมาเป็นยังไง แล้วสังคมที่โดนมาเป็นตัวทดลองโดยไม่รู้ตัว ได้อะไรกลับไปบ้าง?

Discussion (14)