เก็บไว้เช็ค! นโนบายเพื่อผู้หญิง พรรคการเมืองไทย 2566 เลือกตั้งแล้ว จะได้ทำแค่ไหน

การเลือกตั้ง 2566 ทำให้บ้านเมืองกลับมาคึกคักอีกครั้ง จีบันคอมมูนิตี้ก็คึกคักไม่น้อย นอกจากเรื่องบิวตี้ ความสวยงาม เราก็ได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับนโยบายในฝัน ซึ่งเมมเบอร์ก็เสนอเรื่องค่าครองชีพ ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตที่อยากให้ดีขึ้นกว่าเดิม 
แม้ว่านโยบายส่วนใหญ่จะสนับสนุนปากท้องในภาพรวม แต่อย่าลืมว่านโยบายเพื่อกลุ่มคนหลากหลายก็จำเป็น ในฐานะที่จีบันคอมมูนิตี้เป็นพื้นที่ของผู้หญิง เราก็อยากเห็นนโยบายที่ช่วยให้ชีวิตผู้หญิงดีขึ้น
ปัญหาเกี่ยวกับผู้หญิงถือเป็นเรื่องสากล UN Women จึงวางโรดแมปพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้หญิงทั่วโลก โดยตั้งเป้าว่าจะทำให้ผู้หญิงมีชีวิตที่ดีขึ้น เน้น 4 ด้านหลัก คือ
  1. สุขภาพของผู้หญิงต้องดีขึ้น ผู้หญิงต้องได้รับบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึง และมีสิทธิตัดสินใจบนร่างกายของตัวเอง ซึ่งนโยบายหลักๆ ที่พรรคการเมืองไทยเสนอ ครอบคลุมประเด็นต่อไปนี้
    1. ผ้าอนามัย
    2. วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
    3. ตรวจภายใน
    4. ทำแท้งปลอดภัย
  2. ความรุนแรงต่อผู้หญิงต้องหมดไป ทั้งความรุนแรงทางกาย วาจา จิตใจ เป็นปัญหาที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่ยังไม่เห็นว่าพรรคการเมืองไหนเสนออย่างเป็นรูปธรรม
  3. ความเท่าเทียมทางเพศต้องเกิดขึ้นจริง ตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงเวทีการเมือง รวมถึงการออกกฎหมายเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมด้วย ซึ่งนโยบายที่พรรคการเมืองเสนอ มีดังนี้
    1. สิทธิลาคลอด
    2. สมรสเท่าเทียม
    3. เลือกคำนำหน้าตามความสมัครใจ
  4. ผู้หญิงต้องได้รับการส่งเสริมเชิงอาชีพและการเงิน รวมถึงส่งเสริมบทบาททางการเมือง ซึ่งนโยบายที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้
    1. การกำหนดโควต้า สส. หญิง ในสภา
    2. กองทุนพัฒนาบทบาทผู้หญิง
    3. กองทุนเพื่อคุณแม่
เรามาดูรายละเอียดนโยบายของแต่ละพรรค ตามหัวข้อข้างต้นกันดีกว่า

1. นโยบายเพื่อสุขภาพของผู้หญิง

ปัญหาสุขภาพของผู้หญิงมีหลายแง่มุม ทั้งการเข้าถึงการรักษา การดูแลระบบสืบพันธุ์ สุขภาพคุณแม่ แล้วพรรคการเมืองไทยเสนอนโยบายด้านไหนบ้าง

1.1 ผ้าอนามัยฟรี

ความจำเป็นต้องใช้ผ้าอนามัยของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์เป็นปัญหาระดับโลก ประเทศที่เจริญแล้วมีผ้าอนามัยฟรี มีหลักสูตรเพศศึกษาที่เปิดกว้าง และผลักดันกฎหมายจำเป็น เช่น ลางานเมื่อปวดท้องเมนส์ 
ตัดภาพมาที่อาเซียนบ้านเรา หลายพื้นที่ยังขาดแคลนผ้าอนามัย จนต้องเลือกใช้วัสดุที่ไม่สะอาดแทน ที่น่าเศร้าคือคนยังมองว่าประจำเดือนน่ารังเกียจ

ในประเทศไทย เรื่องผ้าอนามัยยังคงเป็นประเด็นร้อน โดยเฉพาะราคาผ้าอนามัยซึ่งต้องจ่ายทุกเดือน ประมาณ 75 – 175 บาท (ข้อมูลจาก พรรคก้าวไกล) คิดเป็น 8% ของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของหญิงไทย (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่ารายได้เฉลี่ยของหญิงไทย ปี 2562 อยู่ที่ 14,487 บาท / เดือน) บางคนที่แพ้ผ้าอนามัยอาจจะต้องกัดฟันจ่ายเงินเยอะกว่าเพื่อซื้อผ้าอนามัยที่คุณภาพดีกว่า

จริงๆ แล้วประเทศไทยก็มีผ้าอนามัยฟรีนะ ในปี 2563 กระทรวงสาธารณสุขออกแคมเปญ "Happy Period" เพื่อผลักดันเรื่องสุขอนามัยระหว่างมีประจำเดือน นำร่องแจกผ้าอนามัยฟรีในโรงเรียน ปรับปรุงห้องน้ำให้สะอาดยิ่งขึ้น และเพิ่มหลักสูตรสุขอนามัยทางเพศในบทเรียน
เมื่อตอนนี้ผ้าอนามัยฟรีแค่ในโรงเรียน แล้วผ้าอนามัยฟรีสำหรับคนอื่นๆ ล่ะ พรรคการเมืองว่าไงบ้าง?
  • เพื่อไทย  
    • ผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า สำหรับผู้มีประจำเดือนทุกคน
    • แจกผ่านร้านขายยา สถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชน เพื่อผู้มีรายได้น้อย
    • แจกในโรงเรียน มหาลัย เรือนจำ 
    • แจกผ่านแอปพลิเคชั่น เพื่อพนักงานออฟฟิศและคนทำงาน ไปรับเองตามสถานที่ที่สะดวก หรือให้ส่งมาที่บ้านก็ได้
  • ก้าวไกล
    • ยกเลิก VAT 7% ในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับผ้าอนามัย
    • แจกผ้าอนามัยฟรีในสถานศึกษา และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
    • แจกคูปองเงินสดเพื่อแลกซื้อผ้าอนามัย
    • จัดสรรตู้หยอดเหรียญ / จุดวางขายผ้าอนามัยให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
    • สนับสนุนการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านสุขอนามัย 
  • ไทยสร้างไทย 
    • แจกผ้าอนามัยฟรีให้นักเรียนและผู้มีรายได้น้อย
  • เพื่อชาติ
    • ยกเลิก VAT 7% ในผ้าอนามัยทุกประเภท
    • แจกผ้าอนามัยฟรีในสถานศึกษา ร้านขายยา และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
  • รวมไทยสร้างชาติ
    • แจกผ้าอนามัยฟรีในโรงเรียน

1.2 วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่พบมากในหญิงไทยเป็นอันดับ 2 และมีอัตราเสียชีวิตเกิน 50% หมอแนะนำให้ผู้หญิงอายุไม่เกิน 26 ปี ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก 

แต่วัคซีนราคาประมาณ 2,000 - 11,000 บาท ถือว่าแพงมากเมื่อเทียบกับเงินเดือนเด็กจบใหม่ที่เริ่มต้น 10,000 บาท (ข้อมูลจากบริษัทจัดหางาน Adecco ปี 2564)
ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างออสเตรเลีย แคนาดา เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และสหราชอาณาจักร มีวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกฟรีให้ทั้งชายและหญิง ทั้งที่เงินเดือนขั้นต่ำสูงกว่าเรามาก
ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกฟรี แต่ก็ยังฉีดให้เฉพาะนักเรียนชั้นป. 5 
แปลว่า First Jobber ที่ไม่เคยได้วัคซีน HPV ต้องจ่ายเงินกว่า 20% ของเงินเดือนเพื่อวัคซีน รวมถึงเด็กที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา จะเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะไม่มีโอกาสเข้าถึงวัคซีน

เมื่อรัฐบาลมีมาตรการแบบนี้ แล้วพรรคการเมืองไทยเสนออะไรเพิ่มเติมบ้าง?

  • เพื่อไทย
    • ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกฟรี สำหรับผู้หญิงทุกคน
  • ก้าวไกล
    • คัดกรองมะเร็งปากมดลูกฟรี
  • ไทยสร้างไทย  
    • ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกฟรีให้เด็กผู้หญิง
  • เพื่อชาติ
    • ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกฟรี เริ่มฉีดเข็มแรกตั้งแต่ 12 ปี

1.3 ตรวจภายใน

การตรวจภายในที่โรงพยาบาล เริ่มตั้งแต่ราคา 1,000 บาท จนถึงหลักหมื่น (ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจและโรงพยาบาล) 

ปัจจุบันสิทธิประกันสังคมครอบคลุมการตรวจภายในแล้ว แต่ผู้หญิงที่ไม่มีประกันสังคมยังต้องจ่ายราคาปกติ
แล้วพรรคการเมืองไทยเสนอนโยบายอะไรเพิ่มเติมบ้าง?
  • ก้าวไกล
    • ตรวจคัดกรองฟรี 5 มะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทย ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งปากมดลูก
    • เบิกค่าเดินทางมารักษา เพิ่มแรงจูงใจให้คนมาตรวจสุขภาพยิ่งขึ้น
  • ไทยสร้างไทย
    • ตั้งศูนย์ Women Care เพื่อช่วยเหลือและดูแลผู้หญิง
    • ตรวจมะเร็งเต้านมฟรี
    • ตรวจภายในฟรี
  • เพื่อชาติ
    • ตรวจมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม เริ่มต้นฟรี ทุก 4 ปี 

แต่อีกปัญหาที่ผู้หญิง และชาวจีบันกังวลคือ การตรวจภายในกับหมอผู้ชาย ซึ่งเสี่ยงเจอการโดนแซว โดนล้อ หรือมุกตลกที่พบเห็นบ่อยตาม Tiktok จนถึงตอนนี้ยังไม่มีพรรคไหนพูดถึงเลย

1.4 ทำแท้งปลอดภัย

ปัจจุบัน เราสามารถทำแท้งได้ถูกกฎหมาย หากตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ และสามารถรับบริการให้คำปรึกษาเพื่อตัดสินใจได้ที่สถานบริการทั่วประเทศ 

แต่ปัญหาคือ สถานบริการยังไม่ได้รับการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง หมอบางคนก็ไม่สะดวกใจทำแท้งให้ด้วยเหตุผลทางศีลธรรม
จริงๆ แล้ว เราสามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า และประกันสังคมเพื่อขอทำแท้งที่โรงพยาบาลได้ แต่หลายที่รับทำเฉพาะเคสข่มขืน หรือเฉพาะวัยรุ่น โดยเฉพาะโรงพยาบาลในกรุงเทพ ไม่มีที่ไหนเลยที่ให้ทำแท้งตามสมัครใจ 
ถึงจะทำแท้งถูกกฎหมายจริง แต่ก็ไม่ใช่การยุติการตั้งครรภ์แบบเสรี
เมื่อกฎหมายเหมือนจะดี แต่ในทางปฏิบัติยังต้องแก้ไข พรรคการเมืองต่างๆ ว่ายังไงนะ?
  • เพื่อไทย
    • ไม่ได้ออกเป็นนโยบาย แต่เสนอให้ประชาสัมพันธ์สถานบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย และรายชื่อหน่วยงานให้การปรึกษาทางเลือกทั่วประเทศให้กว้างขวางขึ้น และเพิ่มสถานบริการให้ครอบคลุมทุกจังหวัด อย่างน้อยจังหวัดละ 1 ที่ และเพิ่มขึ้นอีกเป็น 5-10 ที่ ในปีต่อๆ ไป
  • ก้าวไกล
    • ทำแท้งถูกกฎหมายไม่เกิน 12 สัปดาห์ และรับยาฟรี ทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
    • บริการให้คำปรึกษาหลังจากการยุติการตั้งครรภ์ฟรี เพื่อตรวจสอบและฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้หญิงที่เข้ารับการทำแท้ง
  • เพื่อชาติ
    • สนับสนุนให้ผู้หญิงสามารถเลือกทำแท้งกับแพทย์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

2. นโยบายเพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง

จากสถิติของมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม พบว่าในปี 2564 หญิงไทยถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ ไม่น้อยกว่า 7 คน / วัน มีผู้ร้องทุกข์เฉลี่ยมากถึงปีละ 30,000 ราย 
ขณะที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่าเหตุการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและคนในครอบครัวในปี 2563 อยู่ที่ 42.2% เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่เคยอยู่ที่ 34.6% โดยแบ่งเป็นความรุนแรงด้านจิตใจ 32.3% ความรุนแรงทางร่างกาย 9.9% และทางเพศ 4.5%
แต่ความจริงแล้ว ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีมากกว่านั้น สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNOCD) ระบุว่า 87% ของคดีการล่วงละเมิดทางเพศไม่เคยถูกรายงาน
ปัจจุบัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กำลังผลักดันเรื่องความรุนแรงทางเพศอยู่ เรามักจะเห็นข่าวบ่อยๆ ว่าสามีตบตีภรรยาไปจนถึงฆาตกรรม 
แต่สังคมไทยกลับมองว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องปกติ พรรคการเมืองส่วนใหญ่จึงไม่มีนโยบายจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง
  • ก้าวไกล เป็นพรรคการเมืองเดียวที่ประกาศนโยบายเพื่อความรุนแรงต่อผู้หญิง ในเชิงรูปธรรม ดังนี้
    • เพิ่มจำนวนตำรวจหญิงประจำทุกสถานีตำรวจ ให้ผู้เสียหายที่มาแจ้งความสบายใจที่จะพูดคุยด้วย
    • ปรับปรุงกฎหมายต่อต้านความรุนแรง การคุกคามทางเพศ แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา กำหนดนิยามใหม่ของการคุกคามทางเพศ
แต่ก็ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนเสนอแก้ไขเรื่องความรุนแรงด้านจิตใจ ที่ผู้หญิงต้องเจอจากค่านิยมต่างๆ

3. นโยบายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ

ความเท่าเทียมทางเพศไม่ใช่การแย่งสิทธิจากเพศใดเพศหนึ่ง แต่เป็นการเสนอโอกาสให้ทุกเพศเท่าเทียมกัน ทั้งด้านอาชีพ เศรษฐกิจ และกฎหมาย แล้วพรรคการเมืองเสนอนโยบายด้านไหนบ้าง

3.1 สิทธิลาคลอด

หลายประเทศทั่วโลกกำลังขยายวันลาคลอดให้มากกว่า 180 วัน บางประเทศอย่างสวีเดนอนุญาตให้ลา 480 วัน แคนาดาให้สิทธิลา 18 เดือน และลาได้ทั้งแม่และพ่อ ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศโดยให้พ่อกับแม่เลี้ยงลูกเท่าๆ กัน
ส่วนตามกฎหมายแรงงานประเทศไทย ฉบับอัพเดตปี 2565 ผู้หญิงสามารถลาคลอดได้ 98 วัน เงินเดือนที่ได้รับชดเชยจะมีอัตราส่วนต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าทำงานข้าราชการ เอกชน หรือรัฐวิสาหกิจ 
คุณแม่ฟรีแลนซ์สามารถรับสิทธิจากบัตรทองหรือประกันสังคมได้ แต่คุณแม่ที่เป็นลูกจ้างรายวันยังไม่ได้รับสิทธิลาคลอดนี้
 แล้วพรรคการเมืองออกนโยบายอะไรเพิ่มเติมบ้าง?
  • ก้าวไกล
    • เพิ่มสิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้ทั้งสองฝ่าย 
  • เพื่อชาติ
    • แม่ลาคลอดได้ 180 วัน โดยได้รับค่าจ้างอย่างน้อย 50% พ่อลาคลอดได้ 30 วัน
  • รวมไทยสร้างชาติ
    • ขยายระยะเวลาให้แม่ลางานก่อนคลอดได้ 30 วัน และหลังคลอด 180 วัน และพ่อสามารถลางานดูแลลูกหลังคลอดได้ 30 วัน โดยได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน

3.2 สมรสเท่าเทียม

ปัจจุบันการแต่งงานเพศเดียวกันยังไม่ถูกกฎหมายในประเทศไทย ในปี 2558 รัฐบาลได้ออก พรบ. คู่ชีวิต ที่อนุญาตให้คนเพศเดียวกันจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตได้ 
แต่สิทธิก็ไม่เท่ากับการจดทะเบียนสมรส เช่น แปลงสัญชาติตามคนรักไม่ได้ รับอุ้มบุญไม่ได้ และเรื่องภาษีมรดกก็ยังไม่ได้ข้อสรุป
มีเพียง 4 พรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุน พรบ. สมรสเท่าเทียม นั่นคือ
  • เพื่อไทย
  • ก้าวไกล
  • ไทยสร้างไทย
  • สามัญชน

3.3 เลือกคำนำหน้าตามความสมัครใจ

พรรคก้าวไกลเป็นพรรคเดียวที่เสนอนโยบายให้บุคคลเลือกคำนำหน้าตามสมัครใจ เปิดโอกาสให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเลือกเพศได้เลือกให้ตรงกับเพศสภาพหรือเพศวิถี 

4. นโยบายเพื่อการส่งเสริมเชิงอาชีพและการเงิน

ผู้หญิงหลายคนทั่วโลกยังไม่มีโอกาสทำอาชีพที่ตัวเองใฝ่ฝัน จากสถิติขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) พบว่า ปี 2563 เฉลี่ยทั่วโลกผู้หญิงมีรายได้ 84% น้อยกว่าผู้ชาย 
หลายประเทศยังมีอคติทางเพศในสายอาชีพ จนผู้หญิงทำงานไม่ได้ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่กดคะแนนสอบแพทย์ของผู้สมัครหญิงให้ต่ำลงกว่าผู้สมัครชาย เพราะไม่อยากให้ผู้หญิงเข้าทำงาน
รัฐบาลทั่วโลกเร่งแก้ปัญหานี้ตามแนวทางของ UN Women รัฐบาลไทยก็เช่นกัน ในปี 2558 เรามี พรบ. ความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งเปิดโอกาสให้คนที่เจออคติทางเพศฟ้องคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศได้ และจัดตั้งกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ 
แต่ตัว พรบ. ก็เขียนไว้กว้างๆ หลายพรรคการเมืองจึงเสนอนโยบายที่เจาะจงมากขึ้น มีอะไรบ้างไปดูกัน

4.1 เพิ่มสัดส่วน สส. หญิง ในสภา

ถ้าเรามี สส. หญิง ในสภาเพิ่มขึ้น โอกาสที่เราจะได้นโยบายเพื่อผู้หญิงก็ยิ่งมีมากขึ้น
ปี 2565 สภาผู้แทนราษฎรมีจำนวน สส. หญิง เพียง 15.4% ซึ่งถือว่าน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกอย่างมาก (ค่าเฉลี่ย สส. หญิง ของโลกอยู่ที่ 25.5%) 
เมื่อดูนโยบายพรรคการเมืองไทยแล้ว มีเพียงพรรคเดียวที่เสนอโควต้า สส. หญิง นั่นคือพรรคไทยสร้างไทย ที่เสนอโครงการ More Women in Politics สนับสนุนให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการบริหารการเมืองและราชการ อย่างน้อย 20%

4.2 กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี

ถึงแม้ว่า พรบ. ความเท่าเทียมทางเพศ จะระบุให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าครอบคลุมประเด็นไหน 
พรรคการเมืองหลายพรรคได้ออกนโยบายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้
  • เพื่อไทย
    • ยกระดับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีด้วยเทคโนโลยี ผู้หญิงทุกคนต้องมีโอกาสพัฒนาทักษะ
  • ก้าวไกล
    • เพิ่มจำนวนตำรวจหญิง โดยการปิดรับจากบุคคลภายนอกมากขึ้น เปิดรับนักเรียนนายร้อยหญิง เป็นต้น
  • ไทยสร้างไทย 
    • กองทุนพลังหญิง เพื่อให้ผู้หญิงทุกคนมีงานทำมีอาชีพที่มั่นคงและไม่มีหนี้
    • ตั้งเครือข่ายออนไลน์เพื่อจับคู่งานที่เหมาะสมให้กับผู้หญิงที่ว่างงาน ส่งเสริมอาชีพให้มีรายได้อย่างยั่งยืนและเพียงพอ
    • มีโครงการ Upskill และ Reskill ให้แก่ผู้หญิง
  • เพื่อชาติ
    • จัดตั้งกองทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้นำสตรี รวมถึงผู้มีความแตกต่างหลากหลายทางเพศ
  • ประชาธิปัตย์
    • รับคุณแม่วัยใสกลับเข้าระบบการศึกษา เปิดโอกาสทางการงานต่อไป

4.3 กองทุนสนับสนุนคุณแม่

คุณแม่เป็นอีกหนึ่งบทบาทที่หนัก ต้องทำงานนอกบ้านและต้องเลี้ยงดูลูกไปพร้อมกัน แต่ถ้าเลือกสละอาชีพการงานมาดูแลลูกเพียงอย่างเดียว ก็สูญเสียรายได้ไปอีก แล้วพรรคการเมืองมีนโยบายสนับสนุนคุณแม่ยังไงบ้าง?
  • ก้าวไกล
    • เพิ่มศูนย์เลี้ยงเด็กใกล้บ้านอย่างทั่วถึง ถ้าคุณแม่ต้องไปทำงาน
  • ไทยสร้างไทย
    • จัดตั้งกองทุนแม่เลี้ยงเดี่ยว ให้มีอาชีพ มีรายได้มั่นคง
  • พลังประชารัฐ
    • ดูแลทุกช่วงวัย “แม่ บุตร ธิดา ประชารัฐ” ด้วยการสนับสนุนอายุครรภ์ตั้งแต่ 4-9 เดือน (รวม 5 เดือน) เดือนละ 10,000 บาท และเงินเลี้ยงดูบุตร 3,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6 ปี

5. เครื่องสำอาง

นโยบายเรื่องเครื่องสำอางอาจจะไม่ได้อยู่ในหมวดนโยบายผู้หญิง แต่ปัจจุบันการใช้เครื่องสำอางเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย โดยเฉพาะจีบันคอมมูนิตี้ที่พูดคุยเรื่องการดูแลตัวเองผ่านเครื่องสำอาง เราเลยไปหาเพิ่มว่าพรรคการเมืองมีนโยบายอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง

5.1 ภาษีเครื่องสำอาง

ราคาเครื่องสำอางเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่กังวล ที่เราเห็นว่าเครื่องสำอางแพง เพราะตามกฎหมายปัจจุบัน เครื่องสำอางที่ขายในไทยถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย จึงคิดภาษีอยู่ที่ 30% ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับสินค้าทั่วไปที่จ่ายภาษีแค่ 7% 
ถ้าช้อปออนไลน์จากต่างประเทศ ราคา 1,500 บาท ขึ้นไป ก็ต้องเสียภาษี 30% เช่นกัน แต่ถ้าไม่อยากเสียภาษี ก็ต้องบินไปช้อปเองที่ดิวตี้ฟรี ต้องช้อปไม่เกิน 20,000 บาท ด้วยนะ
หลังจากส่องนโยบายแล้ว พบว่าส่วนใหญ่เน้นสนับสนุนธุรกิจเครื่องสำอาง กระตุ้นกำลังซื้อมากกว่าลดภาษี และนี่คือพรรคที่มีนโยบายเรื่องภาษีเครื่องสำอาง
  • ภูมิใจไทย
    • ลดภาษีเครื่องสำอางและสินค้านำเข้า
    • สนับสนุนธุรกิจเครื่องสำอาง SME 
  • เพื่อไทย 
    • เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มกำลังซื้อ 
    • ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท / วัน 
    • ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำระดับปริญญาตรีเป็น 25,000 บาท / เดือน 
    • สนับสนุนธุรกิจ SME
  • ก้าวไกล
    • สนับสนุนธุรกิจ SME
    • สร้างงาน เพิ่มรายได้ กระตุ้นกำลังซื้อให้ผู้บริโภค

5.2 ความปลอดภัยของเครื่องสำอาง

เรามีแค่หน้าเดียว ฉะนั้น กระบวนการผลิตเครื่องสำอางจำเป็นต้องได้มาตรฐานที่ดีที่สุด อย่าให้มีเครื่องสำอางปลอมหลุดออกมาเด็ดขาด มาดูกันว่าพรรคไหนสนับสนุนเรื่องนี้บ้าง
  • ประชาธิปัตย์
    • ปกป้องผู้บริโภคจากเครื่องสำอางอันตรายและไม่ปลอดภัย
    • เพิ่มงบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย
  • เพื่อไทย
    • ประชาสัมพันธ์ให้คนรับรู้ถึงความสำคัญของการใช้เครื่องสำอางแท้และปลอดภัย
    • เพิ่มช่องทางร้องเรียนเครื่องสำอางปลอมได้ง่ายขึ้น
  • ก้าวไกล
    • ผู้บริโภคต้องเข้าถึงข้อมูลส่วนผสมเครื่องสำอางได้ง่ายขึ้น
    • สนับสนุนงบวิจัยเครื่องสำอาง
และนี่คือนโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงทั้งหมดที่พรรคการเมืองไทยเสนอไว้ ถ้าอยากอ่านนโยบายอื่นๆ ในการเลือกตั้ง 2566 เพิ่มเติม จิ้มไปอ่านที่เว็บไซต์ กกต. ได้เลยจ้า
ส่วนวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 เราเชื่อว่าทุกคนคงมีพรรคในใจอยู่แล้ว อย่าลืมออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งพร้อมกันนะ เวลา 8.00 - 17.00 น. 
แค่เลือกพรรคที่ชอบ นโยบายที่ใช่ เมื่อได้รัฐบาลใหม่แล้วมาดูกันว่าเขาจะทำตามสัญญามั้ยน้า โดยเฉพาะประเด็นเรื่องผู้หญิง 
สุดท้ายนี้ อย่าลืมกดเซฟ กดแชร์ให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันด้วยล่ะ จะได้ย้อนกลับมาเช็คง่ายๆ

Discussion (15)

โดนใจไปเลยค่า ขอบคุณที่มาแชร์นะคะ
หวังว่าจะเจริญได้แล้วน้าประเทศไทยยยย
ขอบคุณข้อมูลดีๆนะค่า