ทริปนี้มีสาระ ขึ้นดอยไปเยี่ยมโรงเรียนในไร่ส้ม

เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน ทรายและน้องฟ้าได้มีโอกาสเข้าร่วมทริปกับทางยูนิเซฟโดยพวกเราได้เดินทางไปเยี่ยมชม"โรงเรียนในไร่ส้ม"  โดยงานนี้มีผู้ใหญ่ใจดีอย่างแสนสิริเป็นผู้สนับสนุนการเดินทางและค่าใช้จ่าย ทั้งหมด การเดินทางครั้งนี้มีสื่อต่างๆ มาร่วมเดินทางกับเราด้วย ทริปเจ๋งๆ ครั้งนี้มีชื่อว่า "โซเชี่ยลเช้นจ์ (Social Change)"

 
Social Change building the future for children.

 
 
การเดินทางเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2554 เรานัดเจอกับสาวๆ ออนไลน์ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดีอย่างโบวี่และเจ้าอายที่สนามบินสุวรรณภูมิ พวกเราเดินทางมาถึงจังหวัดเชียงใหม่เกือบเที่ยง แวะเติมพลังกันก่อนที่จะเดินทางไปที่อำเภอฝาง แหล่งที่ตั้งของโรงเรียนในไร่ส้มที่เราจะเดินทางไปเยี่ยมชมกันในค่ำคืนนี้
 

โครงการโรงเรียนในไร่ส้มเป็นโครงการสำหรับเด็กที่ไร้สัญชาติที่เข้ามาอยู่ในไทยให้มีโอกาสได้เรียนหนังสือ โดยส่วนมากจะเป็นเด็กที่อยู่ตามชายขอบของประเทศไทย เด็กเหล่านี้จะเดินทางมาพร้อมกับพ่อแม่ซึ่งส่วนมากจะเป็นแรงงานพม่า เด็กๆ จะไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีสิทธิ์ในการรักษาพยาบาล และไม่สามารถหางานทำได้ การที่จะเข้าไปช่วยเหลือนั้นก็ค่อนข้างลำบากเพราะมีเรื่องของกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นการช่วยเหลือเด็กๆ จึงต้องรอบคอบ ทางยูนิเซฟและแสนสิริ ก็เลยมองว่าสิ่งที่พอจะช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านี้ได้คือเรื่องของการศึกษา จึงได้ร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ ในเชียงใหม่ ผลักดันให้เกิด "โรงเรียนในไร่ส้ม" ขึ้น

เราเดินทางไปสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต3  ที่นี่เค้าทำงานร่วมกันกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เขต1 และกลุ่มเพื่อเด็ก ทั้ง 3 หน่วยงานนนี้เป็นกำลังสำคัญที่ผลักดันให้เกิดโรงเรียนในไร่ส้มขึ้น โดยมีทางยูนิเซฟและแสนสิริเป็นผู้สนับสนุนโครงการดีๆ นี้ด้วยอีกแรง
 

ตอนพลบค่ำพวกเราเดินทางเข้าไปโรงเรียนในไร่ส้ม เส้นทางที่จะขับรถเข้าไปนั้นค่อนข้างลำบาก ลองจินตนาการถึงการขับรถเข้าป่าที่มีถนนขรุขระ ไม่มีทางลาดยาง มีแต่ความมืดรอบด้าน นั่นแหละคือเส้นทางที่เด็กๆ เหล่านี้ใช้เดินทางมาเรียนหนังสือกัน จากปากทางเราขับรถเข้ามาประมาณ 10 กม. และต้องเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 300 เมตร ภาพแรกที่เห็นสถานที่ที่เด็กๆ เรียกว่าโรงเรียนนั้น หากมองด้วยสายตาแล้วจะเรียกว่าเพิงก็คงจะไม่ผิดไปจากนี้นัก
 

เมื่อคณะของเราเดินทางไปถึงเห็นน้องๆ กำลังตั้งอกตั้งใจเรียนหนังสือกับครูเออยู่ค่ะ การเรียนการสอนของที่นี่ก็จะเน้นในเรื่องของสิ่งรอบตัวและชีวิตประจำวัน เค้าสอนเพื่อให้เด็กใช้ชีวิตและเอาตัวรอดได้ในสังคม ห้องเรียนที่นี่จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ด้านในนั้นจะเป็นหลักสูตร กศน ส่วนด้านนอกก็จะเป็นเด็กเล็กหัดอ่านหัดเขียน เรียนขั้นพื้นฐานเช่นเรื่องอวัยวะในร่างกายของเราเป็นต้น


พวกเราแนะนำตัวเองกับน้องๆ


โต๊ะเขียนหนังสือของน้องๆ บอกอะไรกับเราบ้างไหมคะ


บนซ้าย:น้องๆ ศึกษาผู้ใหญ่จับกลุ่มรอนำเสนองาน
กลางซ้าย:น้องฟ้ากับเด็กๆ ด้านนอกที่มาขอลายเซ็นต์
ล่างซ้าย:เจ้าหน้าที่จากยูนิเซฟแจกลายเซ็นต์ ให้น้องๆ
บนขวา:น้องเหมย กับความภาคภูมิใจในบัตรประจำตัวนักเรียน
ล่างขวา :หนุ่มน้อยศรราม ร่าเริงสดใส
 
หลังจากที่คุยกับน้องๆ ข้างนอกแล้ว สักพักเราก็เดินสำรวจเข้าไปด้านในกันค่ะ ข้างในนี้จะเรียนหลักสูตร กศน โดยโรงเรียนในไร่ส้มได้รับการผลักดันจากหน่วยงานต่างๆ จนตอนนี้เป็นโรงเรียนที่อยู่ในระบบเรียบร้อยแล้ว เด็กที่จบจากที่นี่ก็จะได้รับวุฒิการศึกษาเหมือนคนทั่วไปโดยสามารถใช้วุฒิการศึกษาและบัตรประจำตัวนักเรียนไปหางานทำได้ นักเรียนในห้องนี้ส่วนมากก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ทำงานกันตอนกลางวัน บางคนก็เป็นพ่อแม่ของเด็กที่เรียนอยู่ด้านนอก วันที่เราไปเยี่ยมชมในห้องนี้เค้ากำลังเรียนเรืองโรคระบาด มีการนำเสนอผลงานหน้าห้อง  สายตาเราแว๊บมองเห็นข้อความของชื่อโรคเฉพาะเป็น ภาษาอังกฤษ เราเลยถามน้องๆ ว่าคุณครูสอนเหรอคะ คำตอบที่ได้รับสร้างความประทับใจมาก เพราะน้องบอกว่า "จำมาจากฉลากยา" 

รื่องนี้ถ้าเป็นพวกเราหรือเด็กคนอื่นๆ ก็คงเปิดหาจากอากู๋ หรือที่เห็นบ่อยๆ ก็มาตั้งกระทู้ถามตามเว็บบอร์ด ไม่ได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองเท่าไหร่ ภาพที่เราเห็นพวกเค้าตั้งใจเรียนมันทำให้เราคิดถึงสังคมปัจจุบัน เด็กที่มีโอกาสมากกว่าแต่ความตั้งใจและความรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเองน้อยนิด คิดๆ แล้วอยากให้เด็กๆ เหล่านั้นได้ไปลองสัมผัสเรื่องราวของโรงเรียนในไร่ส้มกันบ้าง เผื่อจะได้มุมมองอะไรใหม่ๆ กลับมา และมองโลกแบบละเอียดเข้าใจและเห็นใจกันมากขึ้น 


เช้าวันใหม่พวกเราไปที่โรงเรียนบ้านหล่ายฝางเป็นโรงเรียนในไร้ส้มภาคกลางวัน ที่โรงเรียนนี้อากาศดีมากต้นไม้เยอะมีลมพัดโบกเย็นสบาย ตัวโรงเรียนเป็นอาคารชั้นเดียว นักเรียนก็มีมานั่งเรียนทั้งในห้องและนอกห้อง แต่ไม่ได้แบ่งเป็นห้องๆ ตามชั้นปีนะคะ เพราะคุณครูที่นี่มีเพียงแค่ 6 ท่านเท่านั้น ก็เลยต้องมีการมานั่งเรียนรวมๆ กันบ้าง

หลังจากที่เมื่อคืนนี้เราได้เจอกับครูเอ เช้านี้เราได้พบกับครูแสงดาว คุณครูคนแรกของที่นี่ ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้แหละที่เป็นแรงกำลังสำคัญทำให้เกิดโรงเรียนนี้ขึ้น ครูแสงดาวบอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่เริ่มต้นให้ฟังว่ายากลำบากมากกว่าจะพา เด็กๆ มาเรียนหนังสือได้ เพราะส่วนมากพ่อแม่ของเด็กจะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเรียนหนังสือ เรียนไปแล้วจะได้อะไรเพราะถึงยังไงก็ต้องมาทำงานในไร่ส้มเหมือนเดิม กว่าครูจะเปลี่ยนทัศนคติของพ่อแม่เด็กๆให้เข้าใจได้นั้นมันยากมาก ร้องไห้ไม่รู้กี่ครั้ง ท้อมาก็ไม่รู้กี่หน แต่ครูก็สู้ต่อ และทำทุกวิถีทางเพื่อให้เด็กๆ เหล่านี้ได้มาเรียนหนังสือ

แรกเริ่มนั้นโรงเรียนมีครูแค่ 3 คน แต่จำนวนของนักเรียนนั้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จาก 70 คน เพิ่มเป็น 90 คน ทำให้ครูไม่พอ คุณครูทั้ง 3 เลยมานั่งคุยกันและตกลงกันว่า จะแบ่งเอาเงินเดือนที่ได้รับมาลงขันกันจ้างครูเพิ่ม ตอนนี้ที่นี่มีครูทั้งหมด 6 คน ครูเล่าเป็นเรื่องปรกติมาก แต่คนฟังแบบเรานั้นน้ำตาคลอเบ้าไปแล้ว รับรู้ได้ถึงคำว่าผู้ให้โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน ในสังคมเบี้ยวๆ บูดๆ แบบปัจจุบันนี้ยังมีอยู่จริง ....
 

การเรียนการสอนของที่นี่ก็จะเน้นให้นักเรียนได้ฝึกอาชีพทำได้จริง สอนในสิ่งรอบตัว สิ่งที่พวกเรามองข้ามนั้น ที่นี่สามารถเอามาสอนได้หมด มองดูแล้วการสอนแบบนี้ถ้าในเมืองก็คงจะเรียกว่า Project Approach โรงเรียนทางเลือกที่มีค่าเทอมแสนแพง แต่สำหรับที่นี่แล้วฟรี!!!

วันที่เราไปนั้นน้องๆ กำลังตัดผมให้กัน การตัดผมนั้นพี่ชั้นโตก็คือ ป.4-ป.6 ก็จะเป็นคนตัดให้กับน้องเด็กเล็ก ถือว่าเป็นการช่วยครอบครัวประหยัดได้อีกทางหนึ่งแถมยังสามารถกลับไปตัดให้พ่อแม่ได้ด้วย เดินไปอีกนิดก็จะเห็นน้องกำลังนั่งคนน้ำยาซักผ้าและน้ำยาล้างจานกันอยู่ เดินต่อไปอีกก็จะเจอมุมทำขนม  ผลิตภัณฑ์และขนมพวกนี้เมื่อทำเสร็จแล้วผู้ปกครองหรือคนแถวนั้นก็จะมาซื้อไปใช้ โดยเงินที่ได้ก็จะสนับสนุนให้กับทางโรงเรียนเป็นค่าอาหารให้กับเด็กๆ ค่ะ 
 
 
บนซ้าย:ครูแสงดาว บอกเล่าเรื่องราวของโรงเรียนบ้านหล่ายฝาง
กลางซ้าย:พรีเซนเตอร์ขนมขี้นกเป้า

ล่างซ้าย:ถ่ายรูปหมู่กับของฝากจากน้องๆ
บนขวา:น้องๆ ให้น้ำยาล้างจานและน้ำยาซักผ้า เป็นของที่ระลึก
ล่างขวา:นักเรียนคนแรกของโรงเรียนบ้านหล่ายฝางและผู้ปรกครองที่ทำงานในไร่ส้ม


 

เช้าวันที่สามก่อนที่จะเดินทางกลับ เราได้เดินทางไปที่มูลนิธิอาสาพัฒนาเด็ก ที่นี่ตั้งอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ ที่มูลนิธินี้ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน ในจังหวัดเชียงใหม่ เด็กที่มาอยู่ที่นี่ก็มีหลายแบบ มีทั้งหนีออกจากบ้าน โดนหลอกมา  โดนทารุณกรรมทางเพศ เด็กที่พ่อแม่ทิ้ง เด็กกลุ่มนี้มีทั้งเด็กไทย และเด็กไร้สัญชาติ พวกเค้าเหล่านี้น่าสงสารมากค่ะ

พวกเราได้พูดคุยกับครูเอกผู้ดูแลอยู่ที่มูลนิธินี้ ครูเอกเล่าถึงความเป็นมาของเด็กพวกนี้ให้เราฟัง และอธิบายวิธีการช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้เบื้องต้นว่า วิธีแรกเลยก็คือถ้าเจอเด็กๆ เหล่านี้ตามท้องถนน ก็จะชวนให้มาอยู่ที่มูลนิธิก่อน อย่างบางคนที่ไม่แน่ใจหรือไม่ยอมมาก็จะให้เพื่อนที่เคยเป็นเด็กเร่ร่อนด้วย กันไปชวน หลังจากนั้นก็จะถามประวัติของเด็กว่าเป็นใครมาจากไหนแล้วพาไปส่งบ้าน ส่วนในกรณีของเด็กไร้สัญชาติก็จะติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการ ต่อ


อย่างที่เรารู้กันดีค่ะว่าเด็กเร่ร่อนบางคนก็อาจจะมีนิสัยก้าวร้าว และบางคนก็มีสภาวะจิตใจย่ำแย่จากการโดนหลอก หรือถูกทารุณกรรมเ วิธีการปลอบโยนจิตใจของที่นี่นั้นดีมากเพราะเค้าใช้ศิลปะเป็นตัวช่วยในการปลอบโยนเด็ก ทำให้พวกเค้ามีจิตใจที่อ่อนโยนขึ้น ที่นี่เหมือนเป็นแหล่งฝึกฝนและพัฒนาอาชีพ งานศิลปะที่พวกเค้าทำมีมากมายหลายอย่างมีทั้งโปสการ์ด ผ้ามัดย้อม กระเป๋า สมุด ฯลฯ สิ่งของเหล่านี้จะนำไปวางจำหน่ายที่ "ร้าน ด.เด็ก" เงิน ที่ได้จากการจำหน่ายนั้นก็จะเอามาเป็นกองทุนสำหรับการศึกษาและอาชีพ ใครผ่านไปจังเชียงใหม่ถ้ายังคิดไม่ออกว่าจะซื้ออะไรเป็นของฝาก ก็อย่าลืมแวะไปที่ร้าน ด.เด็กนะคะ


หลังจากที่จบภาระกิจช้อปปิ้งที่ร้านด.เด็ก หลายคนได้ของมาฝากคนใกล้ชิดจนล้นกระเป๋า เราก็ออกเดินทางกลับบ้านกันด้วยหัวใจที่เต็มอิ่มและฟูฟ่อง การที่เราได้ไปเห็นอะไรในมุมมองใหม่ๆ มันทำให้เราได้เปิดใจกว้างมากขึ้นและทำให้เราย้อนกลับมามองดูตัวเองช้าๆ ชัดๆ อีกครั้งว่าเราได้ทำประโยชน์อะไรให้กับสังคมไปแล้วบ้าง

ทริปนี้ต้องขอขอบคุณทางยูนิเซฟและแสนสิริ ที่ทำให้เราได้ไปพบกับเรื่องราวดีๆ ได้เห็นความพยายามของคุณครูหลายๆ ท่านที่พร้อมจะเป็นผู้ให้อย่างแท้จริง ขอบคุณที่ทำให้เราได้เห็นความสดใสและไร้เดียงสาของเด็กๆ และทริปนี้ช่วยตอกย้ำคำว่า "การเป็นผู้ให้สุขใจกว่าเป็นผู้รับ" ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ขอบคุณค่ะ 

Discussion (5)

อยากไปช่วยครูสอนเด็ก ๆ ตอนปิดเทอมจังค่ะ
บรรยากาศสวยมากเลยค่ะ อาหารก้น่ากินมากมากด้วยโดนเฉพาะ.. ไข่ต้มมม
 ร้าน ด.เด็ก น่ารักจังคะ สินค้าก็ดูน่ารักด้วยย

ชื่นชมคุณครูที่นั้นจริงๆคะ เด็กๆก็น่ารัก 

 ชอบมาก อยากไปอีก กิจกรรมดีๆแบบนี้ต้องขอบคุณแสนสิริที่พาเราไปด้วยนะคะ